วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

เสียดท้อง...ต้องระวัง

เรื่องร้องเรียนที่พบบ่อยมากเรื่องหนึ่ง คือ แพทย์ ไม่สามารถให้การวินิจฉัย Acute Myocardial Infarction ได้ ที่วินิจฉัยไม่ได้ เป็นเพราะ "ไม่ได้นึกถึง" จึงมิได้ส่งตรวจง่ายๆอย่างเช่น EKG บ่อยครั้งที่ผมนึกว่า ทำไมพบกรณีเช่นนี้บ่อยเหลือเกิน เรา(โรงเรียนแพทย์)สอนมาไม่ดีหรือเปล่า หรือ ลูกศิษย์ ไม่จำเอง !!

หากผู้ป่วยมารพ. แล้ว บอกหมอว่า แน่นหน้าอก อึดอัดตรงกลางหนักๆ เหงื่อแตก แบบนี้ก็ง่าย ใครวินิจฉัยไม่ได้หรือไม่ส่งตรวจ EKG ก็สมควรลงโทษ แต่จะมีผู้ป่วยบางรายที่ อาการแปลกๆ (ความจริงก็ไม่แปลก) ที่บ่งว่า น่าจะเกิดจาก โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือ กล้ามเนื้อหัวใจตาย โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุ ดังนี้

แน่นคอ ร้อนคอ กลืนลำบาก (แต่ไม่ใช่ dysphagia)
แน่นคอ ปวดกราม
แน่นหน้าอก เมื่อยแขน ไหล่ (โดยมากซ้าย แต่ สองข้างก็ได้)
จุกแน่นลิ้นปี่ แบบเดียวกันกับ Peptic หรือ Dyspepsia
บางคนใช้คำว่า "ลมดันขึ้นยอดอก"


อาการเหล่านี้หากเกิดในผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงสูง ก็ต้องนึกถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ตัน เสมอ
ดังนั้น แนวทางการตรวจที่สำคัญ คือ EKG ก่อน หากผิดปกติชัดเจน เช่น Acute MI ก็ได้คำตอบ แต่หากยังไม่ชัดเจน ก็จำเป็นต้องตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม อย่าลืมว่า EKG ใน Acute Coronary Syndrome สามารถปกติได้หากไม่ได้ทำการตรวจขณะมีอาการ

สิ่งที่ควรตรวจเพิ่มเติม ขึ้นกับระดับความสามารถของ แพทย์ และ รพ เช่น CXR การส่งตรวจ Troponin I หรือ T (ซึ่งใช้เวลา 6 ชม หลังจากเกิดอาการ จึงจะผิดปกติ) หรือ Exercise stress test หรือ Echocardiogram (ดู regional wall motion abnormality) เป็นต้น

บางครั้งที่แพทย์มีงานมากกว่าเวลาที่มี ทำให้ไม่มีเวลาที่จะ "ซักประวัติ" หรือ "ฉุกคิด" ซึ่งก็น่าเห็นใจ พอผู้ป่วยเล่าอะไรมาก็จบเลย มิได้ซักต่อ (เวลาน้อย) พอทำแบบนี้บ่อยๆเข้าก็จะติดเป็นนิสัย ทำให้ ลืมไปเลยว่า อาการบางอย่าง ก็เข้าข่ายโรคหัวใจ !