วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551

พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคพ.ศ.2551กับ วิชาชีพสุขภาพ

พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคพ.ศ.2551กับ วิชาชีพสุขภาพ

ขณะนี้ พรบ.นี้มีผลบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว มีการจัดตั้งศาล เพื่อพิจารณาคดีผู้บริโภคตาม พรบ ฉบับนี้ขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งตามที่ทราบว่า มีการให้ความเห็นจากศาล ชัดเจนว่า การบริการสุขภาพ อยู่ภายใต้ กม ฉบับนี้แน่นอน ซึ่งจะมีผลต่อแพทย์ ทั้งที่ทำงานในรพ.รัฐบาลและเอกชน รวมทั้งต้นสังกัดที่อาจถูกฟ้องร้องได้โดยง่ายขึ้น และ ต้องเสียเวลาหาหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ผมถือโอกาสนี้ นำบทความบางส่วน เรียบเรียงโดย นอ.(พิเศษ)นพ.อิทธพร คณะเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา และ กรรมการสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ มาให้อ่านกันดูนะครับ


พระราชบัญญัติใหม่ล่าสุดที่ลงในพระราชกิจจานุเบกษา โดย สนช. วันที่ 25 กพ.2551 ที่น่าต้องจับตามองเป็นอย่างยิ่งคือ พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค โดยประเด็นที่น่าสนใจคือ การให้บริการทางการแพทย์ในระบบ โรงพยาบาลเอกชน หรือ คลินิกเวชกรรมจะรวมอยู่ในนี้หรือไม่ ซึ่งแนวโน้มว่าน่าจะใช่ นั่นแปลว่าจะต้องมีการรีบเร่งเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของระบบบริการให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายโดยเร็ว ก่อนการใช้จริงใน 180 วัน หรือวันที่ 23 สิงหาคม 2551นี้

สืบเนื่องจาก พรบ.นี้ ให้สิทธิผู้บริโภคเป็นอย่างมาก(ซึ่งดีมากๆ)และมีกระบวนการตีความต่างๆที่เหมาะสมกับสินค้าอุปโภค บริโภคเช่นในต่างประเทศ ที่เอื้อให้มีสิทธิในการฟ้องร้องกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมในกรณีคดีแพ่งอย่างเต็มที่ หากแต่สำหรับระบบสาธารณสุขไทยที่อยู่ภายให้เงื่อนไขการรักษาพยาบาลแบบ เศรษฐกิจพอเพียง ท่ามกลางทรัพยากรภาครัฐที่ขาดแคลน ในยุคที่สภาวะทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำเช่นนี้ การเติมช่องว่างความคุ้มครองย่อมมาพร้อมกับแนวของกฎหมายว่าด้วยการฟ้องร้องและขณะเดียวกัน กระบวนการยุติธรรมที่เข้ามามีส่วนร่วมล้วนจะกระตุ้นให้เกิดระบบบริการแบบป้องกันตนเช่นในสหรัฐอเมริกามากขึ้น ราคาสินค้าที่มีคุณภาพอาจต้องบวกด้วยต้นทุนของการป้องกันตน การตรวจที่เกินความเหมาะสมในภาวะปกติ แต่หากต้องป้องกันคดี ที่จะตามมาตามกฎหมายนี้ ย่อมทำให้เกิดการเพิ่มต้นทุนของราคาขาย และบรรยากาศการฟ้องร้องต้องสูงตามมาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ซึ่งความสัมพันธ์ของวิชาชีพสุขภาพกับผู้ป่วยอาจยิ่งถดถอยลงไปอีก

หากพลิกดูรายมาตราจะเห็นได้ว่า มีที่น่าสนใจที่ต้องตีความหลายกรณี ว่าจะเข้าประเด็นหรือไม่ และจะถูกนำมาใช้ทางการแพทย์อย่างไรกรณีนี้ผู้เขียนขอมองในฐานะนักศึกษากฎหมายมหาชนของสถาบันพระปกเกล้าฯ *ว่าทางที่เป็นไปได้น่าจะเป็นเช่นไร ดังนี้...(ขอให้ท่านอ่าน พรบ.ประกอบ และรอความเห็นกฤษฎีกาอีกครั้งหนึ่ง)
มาตรา ๑๑ การโฆษณา แม้ไม่มีสัญญา ใช้แทนสัญญาฟ้องได้ โดยไม่ต้องมีเอกสารสัญญาใดๆ
มาตรา ๑๓ เสียหาย ชีวิต ร่างกาย สุขภาพ อนามัย ภายใน เวลา ๓ ปี นับแต่รู้ความเสียหาย และรู้ตัวผู้ประกอบธุรกิจ ไม่เกิน ๑๐ ปี วันที่รู้ถึงความเสียหาย (กรณีมีเสียหายต่อเนื่อง?)
มาตรา ๑๘ ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ทั้งปวงจากผู้ฟ้อง (เดิมต้องวางเงิน)
มาตรา ๒๐ ฟ้องโดยวาจา ปากเปล่าได้โดยศาลเป็นผู้จัดพิมพ์ให้
มาตรา ๒๑ คดีที่เกี่ยวกรณีฟ้องอื่นๆ ให้นำมารวมกันเข้ากรณี กม.ผู้บริโภค
มาตรา ๒๙ ผู้ถูกร้องเป็นผู้รับภาระพิสูจน์ประเด็นพิพาทว่าตนเองไม่ผิด (เช่นสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนต้องพิสูจน์ตนเอง ซึ่งต้องเตรียมไว้)
มาตรา ๓๐ คดีเดียวกัน ซ้ำ ฟ้องที่เดิม ไม่ต้องสืบพยาน ใหม่ ใช้วินิจฉัยเดิมได้ (สรุปว่าหากคดีเดิมฟ้องจ่ายเท่าไร คดีใหม่กรณีเดียวกันต้องจ่ายเท่ากัน)
มาตรา ๓๙ ค่าเสียหายน้อยไป ดุลยพินิจศาลขอให้จ่ายเพิ่มได้
มาตรา ๔๐ ความเสียหายร่างกาย สุขภาพ อนามัย ตัดสินแล้ว สงวนสิทธิ แก้ไขคำพิพากษาได้ ใน ๑๐ ปี (คือหากเสียหายเพิ่มมาฟ้องเพิ่มได้ภายหลัง??)
มาตรา ๔๒ หากเจตนา ศาลมีมาตรการลงโทษจ่ายค่าเสียหายเพิ่มได้ ตามสมควร ได้ไม่เกิน ๒ เท่าของค่าเสียหายจริงตามที่ศาลกำหนด หากไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ ให้ คิดได้ ๕ เท่า
มาตรา ๔๓ ผู้แทนนิติบุคคล ถูกจับกุม กักขังได้ กรณีไม่ปฏิบัติตาม..(กึ่ง กม.อาญา?)
มาตรา ๔๔ หากเป็นนิติบุคคล ให้ยึดทรัพย์ ผู้ถือหุ้นได้? ยกเว้นต้องพิสูจน์ตนเองว่าไม่เกี่ยว

ยังมีอีกหลายมาตรา รวมถึงการให้ “ตัวแทนฟ้องแทนได้” เช่นมูลนิธิ หรือ เครือข่าย? เป็นต้น ฯลฯ
กรณีเบื้องต้นที่สรุปมาเฉพาะที่สำคัญ ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจซึ่งต้องรีบเร่งพิจารณาว่า
ผลกระทบต่อวงการแพทย์ไทยเป็นอย่างไร ? จะทำให้ค่าใช้จ่ายต่อการเจ็บป่วยสูงขึ้นหรือไม่ ?
เรื่องความปลอดภัยของแพทย์ผู้ทำการรักษาโดยสุจริตจะต้องทำประกันทางแพ่งเพิ่มขึ้นหรือไม่ ?
ทรัพยากรทางสาธารณสุขประเทศต้องจ่ายมากขึ้นเพื่อการนี้หรือไม่ อย่างไร ไม่เพียงแต่เงิน ทั้งเรื่อง เวลาการขึ้นศาล กระบวนการกฎหมาย แทนการนำไปใช้เพื่อการรักษา คุ้มค่าหรือไม่?
จะเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค หรือประชาชนในประเทศจริงหรือไม่ คุ้มค่ากับผลกระทบหรือไม่?
กระบวนการคนกลางที่เกิดขึ้นจะเป็นรูปใด? ทนายความ นักกฎหมาย กระบวนการศาล การไกล่เกลี่ย รูปแบบการฟ้อง รวมถึงบริษัทประกันที่ต้องเข้ามาร่วมวงด้วยเช่นเดียวกับในต่างประเทศ

สุดท้าย ผม (heart doc) เพียงแต่เอามาลง เตือน พวกเรา (รวมทั้งตัวเอง) ที่ถือว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงมาก ที่จะโดนฟ้องร้อง ซึ่งวิธีที่ดีที่สุด คือ การประกอบวิชาชีพเวชกรรม ด้วยความรอบคอบ ตามมาตรฐานวิชาชีพ และ อย่าลืม บันทึกรายละเอียดต่างๆในเวชระเบียนเพื่อการพิสูจน์ความถูกต้องในอนาคต อย่าปล่อยให้เวชระเบียนว่างๆ หรือ ลายมืออ่านไม่ออก

สิ่งที่ผมกลัว Preventive med ก็จะกลายเป็น Defensive med ไปโดยไม่ตั้งใจ เช่น ผม ในวันนี้เขียนอยู่นี้ มีผู้หญิงสาว เจ็บหน้าอก มาตรวจ ผมก็ต้องสั่ง CXR EST ทั้งๆที่ก็รู้ว่า โอกาสปกติ เกือบ 100% เป็นต้น !!!


กฎหมาย ดีๆ แต่กำลังจะไล่ หมอดีๆ ออกจากระบบแทนที่จะเก็บหมอดีๆ ไว้ เพราะทุกคนเบื่อที่จะเป็นหมอ ที่ต้องรับภาระเช่นนี้ สุดท้ายเราก็ต้องเดินตามอเมริกา ที่มีการประกันการฟ้องร้อง มีทนายคอยหาผู้ป่วยเพื่อฟ้องร้องแพทย์ (ได้ค่าตอบแทน) ไม่อยากคิดเลยครับ...

วันเสาร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เวชระเบียน.....หลักฐานชิ้นสำคัญ

กระบวนการสืบสวนสอบสวน เริ่มต้นตั้งแต่ มีผู้ร้องเรียน ปัจจุบัน การร้องเรียนสามารถทำได้หลายทางมาก ทั้งผ่านระดับจังหวัด (สสจ) แพทยสภา ผู้ตรวจการรัฐสภา องค์กรเอกชน ไปจนถึง อินเตอร์เน็ต ง่ายซะขนาดนั้น !! เมื่อกระบวนการเริ่มแล้ว หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับจริยธรรม มาตรฐานวิชาชีพเวชกรรม เรื่องราวจะเข้าสู่คณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ของแพทยสภา ก่อน หากเห็นว่ามีมูล ก็จะเริ่มผ่านมายังคณะอนุกรรมการจริยธรรมชุดต่างๆ ซึ่งตรงนี้ที่ องค์กรวิชาชีพ เช่น ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ สมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ จะให้ความเห็นในแง่ "วิชาการ" คำถามที่ปรึกษามาโดยมากมักจะถามว่า แนวทางการรักษาโรคนั้นๆควรเป็นอย่างไร แพทย์ท่านนั้นได้ปฏิบัติวิชาชีพเวชกรรมตามมาตรฐานที่ดีที่สุด หรือไม่ หรือ บางครั้งอาจมีคำถามเฉพาะเจาะจงมาเลย เช่นการให้ยานี้จำเป็นหรือไม่ เป็นต้น

กระบวนการสอบสวนของแพทยสภา เปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องเรียนได้มีโอกาสอธิบาย ชี้แจง แต่ ในกระบวนการให้ความคิดเห็นทางวิชาการขององค์กรวิชาชีพ ไม่ได้เปิดโอกาสตรงนั้น การให้ความคิดเห็นจึง ขึ้นกับข้อมูลที่ทางแพทยสภาส่งมาให้ เกือบทุกครั้งเป็น ภาพถ่ายเอกสารจางๆ ลายมืออ่านยาก ไม่ชัดเจน ไม่สมบูรณ์ คณะกรรมการจำต้องให้ความคิดเห็นไปตามข้อมูลที่มีอยู่ บางครั้งอาจข้องใจแต่ก็ไม่อาจเรียกแพทย์มาถามได้

การบันทึกเวชระเบียน จึงมีความสำคัญอย่างมาก ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ อาจเป็นประโยชน์

บันทึกด้วยลายมือที่ชัดเจน อ่านง่าย ไม่หวัด ตัวใหญ่ หมึกสีเข้ม
EKG ที่สมบูรณ์(ครบทุก leads) ชัดเจนไม่จาง
ระบุวันเวลาชัดเจน
ระบุการตรวจร่างกายที่สำคัญ และ การตรวจไม่พบที่สำคัญ
(Positive finding & Important negative finding)
เขียนการวินิจฉัยเบื้องต้นพร้อมเหตุผลว่าทำไมคิดเช่นนั้น
หากโรคไม่ตรงไปตรงมาควรเขียน การวินิจฉัยแยกโรคที่เป็นไปได้ และ plan ต่อไปว่าจะทำอะไรทั้งนี้เพื่อให้ผู้อ่านภายหลังรู้ว่าเราคิดอะไรอยู่ในขณะนั้น

การตรวจพิเศษบางอย่างที่จำเป็นต้องตรวจ แต่ไม่สามารถตรวจได้ทันทีในขณะนั้นๆ จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ควรบันทึกไว้ด้วยเป็นหลักฐาน ว่า ทำไมจึงไม่ได้ตรวจหรือล่าช้าเพราะเหตุการณ์ผ่านไปจะจำไม่ได้ เช่น วันนั้นยุ่งมาก เครื่องเสียเครื่องไม่ว่าง หรือ ผู้ป่วยไม่ยินยอม เป็นต้น
อย่าลืมบันทึกว่าได้ให้คำแนะนำแล้วว่าควรทำอย่างไรรักษาอย่างไรต่อ เช่น แนะนำ refer แนะนำสวนหัวใจฯลฯ หากเขาจะทำตามหรือไม่เป็นสิทธิของเขา

สิ่งเหล่านี้คงช่วยได้บ้างครับหากบันทึกเป็นนิสัยก็จะเป็นสิ่งดี ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยมาด้วยอาการแน่นหน้าอก แทนที่จะเขียนแค่ แน่นหน้าอก 3 ชั่วโมงก่อนมา ก็น่าจะอธิบายอีกสักหน่อยว่า แน่นหน้าอกที่ว่านั้น มีลักษณะอย่างไร น่าจะเป็น angina pain หรือ non-angina pain เป็นต้น ทำให้ผู้อ่าน(คนให้ความเห็น)รู้ว่า เราได้พยายามแยกโรคร้ายๆออกแล้ว

หรือตัวอย่างที่เกิดจริง ผู้ป่วยชาย อายุน้อยมีอาการแน่นหน้าอกแบบ angina แต่ EKG ปกติ แพทย์ได้สั่ง lab Troponin และอื่นๆตามมารตฐาน แต่ เกิดสั่งยาแก้ปวดจำพวก NSAIDs ด้วย เพราะปวดมาก แพทย์คิดว่าอาจจากกล้ามเนื้อก็เป็นได้ ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะไม่ถูกต้องนัก อย่างไรก็ตามแพทย์รายนี้ ได้เขียนบันทึกว่า ได้นึกถึงอาการจาก CAD เช่นกันแต่ EKG ปกติ ไม่สนับสนุน จึงรอผล Troponin และ Echo เพื่อดู wall motion abnormality อีกครั้งหนึ่ง เพียงไม่กี่นาทีหลังจากนั้น ผู้ป่วยเสียชีวิต ! ลองนึกดูนะครับว่า หากแพทย์มิได้บันทึกว่าตัวเองคิดอย่างไร ไม่ส่งตรวจตามความคิด คนที่มาอ่านเวชระเบียนภายหลังไม่มีทางทราบได้เลยว่าแพทย์คิดอย่างไร การบันทึกรายละเอียดบางอย่างจะช่วยให้ง่ายขึ้นมากในการให้ความเห็นเรื่องมาตรฐานวิชาชีพ