เรื่องราวมีอยู่ว่า ผู้ป่วยคนหนึ่งอายุเกือบหกสิบปี มีเบาหวานความดันโลหิตสูง ไขมันผิดปกติ รับการรักษาอยู่ที่ไหน อย่าไปสนใจเลยครับ อยู่มาวันหนึ่งนายจ้างให้เดินทางไปทำงาน ปรากฎว่าฝนตกตากฝน ต่อมาไม่นานมีอาการคล้ายไข้หวัด ไอ เรื้อรัง ไปตรวจกับแพทย์รพ.หนึ่งให้การวินิจฉัยว่า ไข้หวัด หลอดลมอักเสบ อันเนื่องมาจากตากฝน ให้ยารักษา แต่อาการก็ไม่ได้ดีขึ้นเท่าไหร่ ยังคงรับการรักษาอยู่หลายหน จนเปลี่ยนร.พ. มาอีกแห่งหนึ่ง คุณหมอก็ยังคงยืนยันการวินิจฉัย หลอดลมอักเสบและน้ำท่วมปอด ให้การรักษาแต่ไม่ดีขึ้น รวมระยะเวลาตั้งแต่โดนฝนกว่า 6 เดือน สุดท้ายมาพบคุณหมอโรคหัวใจ ให้การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นหลอดลมอักเสบ แต่มีอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวชัดเจน พบว่าผู้ป่วยมี LVEF ต่ำมาก จึงรับไว้รักษาตัวในร.พ. ให้การรักษาแบบ CHF อย่างเดียว ผู้ป่วยอาการดีขึ้นจนกลับบ้านได้
แต่แล้วผู้ป่วยขอให้แพทย์หัวใจออกใบรับรองแพทย์ว่า "เป็นการเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงาน" ซึ่งแพทย์หัวใจไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น แต่เป็นภาวะหัวใจล้มเหลวที่ไม่เกี่ยวเนื่องจากการทำงานตากฝน จึงเขียนไปตามจริง เป็นผลให้สำนักงาน ประกันสังคมไม่จ่ายเงินทดแทน ผู้ป่วยฟ้องศาลแรงงาน และคุณหมอหัวใจให้ความเห็นต่อ ศาลแรงงาน ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับการทำงานเช่นกัน แต่สุดท้ายศาลท่านตัดสินว่า เป็นความเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน แม้ว่าจะมีความเห็นจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาก่อน ในเมื่อผลออกมาเป็นเช่นนี้คุณหมอโรคหัวใจเลยโดนฟ้องหาว่าให้การเท็จ สะงั้น ทั้งๆที่อุตส่าห์ให้การรักษาจนดีขึ้นก็ตาม
บทเรียนเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
ศาลท่านเชื่อความเห็นของ แพทย์ผู้ตรวจ มากกว่าที่จะเชื่อความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ให้ความเห็นโดยไม่ได้ตรวจ(ดูจากเวชระเบียนอย่างเดียว)
คนเราตั้งใจฟ้องร้องกันจริงๆ ทั้งๆที่ฟ้องหมอหัวใจก็ไม่ได้อะไร แต่ขอฟ้องให้สะใจ
แม้จะทำคุณบูชาโทษ แต่ผมก็ยังแนะนำให้ทำตามมาตรฐานวิชาชีพของเรา ความดีจะคุ้มครองครับ
วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)